ระบบต่าง ๆ ในร่างกายมีการทำงานที่สัมพันธ์กัน หลาย ๆ ระบบเราก็รู้จักกันดีอย่าง ระบบย่อยอาหาร ระบบหมุนเวียนเลือด ระบบขับถ่าย เป็นต้น สำหรับระบบน้ำเหลืองนั้นหลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า ระบบน้ำเหลือง คืออะไร ? แต่นี่ก็เป็นอีกระบบหนึ่งที่มีความสำคัญต่อร่างกาย เนื่องจากระบบน้ำเหลืองเป็นเครือข่ายของหลอดเลือดที่ช่วยในการเคลื่อนย้ายของเหลวและน้ำเหลืองไปทั่วร่างกาย ทั้งเกี่ยวพันกับระบบหมุนเวียนเลือดและระบบภูมิคุ้มกัน อีกทั้งยังช่วยจัดการกับเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายได้
ระบบน้ำเหลือง ทำหน้าที่อะไร?
ระบบน้ำเหลือง (Lymphatic System) คือ หนึ่งในระบบการทำงานย่อยของระบบไหลเวียนโลหิตที่มีหน้าที่ลำเลียงสารและเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสารและก๊าซต่าง ๆ พร้อมทั้งทำงานเกี่ยวพันกับระบบภูมิคุ้มกัน (Immune System) โดยเฉพาะการทำหน้าที่เป็นแหล่งผลิตเม็ดเลือดขาวชนิดต่าง ๆ และช่วยกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ภายในร่างกายของมนุษย์
หน้าที่ของ ระบบน้ำเหลือง
1. ลำเลียงสาร ไขมันบางส่วนในลำไส้ที่ถูกระบบน้ำเหลืองดูดซับ จะถูกลำเลียงเพื่อส่งคืนกลับเข้าสู่ระบบหมุนเวียนเลือด นอกจากนี้ยังลำเลียงสารอาหารหรือของเสียโมเลกุลใหญ่จากเซลล์เนื้อเยื่อไปตามท่อน้ำเหลือง และจะถูกคัดกรองที่ต่อมน้ำเหลือง รวมถึงการลำเลียงเซลล์เม็ดเลือดขาวที่จัดการกับเชื้อโรคไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
2. ลำเลียงของเหลวกลับสู่ระบบหมุนเวียนเลือด บริเวณรอบ ๆ เนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ จะมีของเหลวส่วนเกินออกมา ระบบน้ำเหลืองจะทำหน้าที่ลำเลียงของเหลวส่วนเกินนี้กลับทางท่อน้ำเหลือง และกลับเข้าสู่ระบบหมุนเวียนเลือดอีกครั้ง ซึ่งการลำเลียงของเหลวส่วนนี้จะช่วยให้ร่างกายรักษาสมดุล และความดันของเลือดในระดับปกติไว้ได้ และยังป้องกันการบวมน้ำจากการสะสมของเหลวส่วนเกินอีกด้วย
3. จัดการกับเชื้อโรค เชื้อโรคต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกายทางปาก จมูก หรืออื่น ๆ ระบบน้ำเหลืองจะช่วยจัดการกับสิ่งเหล่านี้ โดยการกรองที่ต่อมน้ำเหลือง รวมถึงสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวมากขึ้น เพื่อกำจัดเชื้อโรค
โครงสร้างของระบบน้ำเหลือง
โครงสร้างของระบบน้ำเหลือง ประกอบไปด้วย น้ำเหลือง ท่อน้ำเหลือง อวัยวะน้ำเหลือง
1. น้ำเหลือง (Lymph) ของเหลวที่ไหลเวียนอยู่ในระบบ ประกอบไปด้วย น้ำ โปรตีน เกลือ กรดไขมัน เม็ดเลือดขาว และสารอื่น ๆ ที่ต้องลำเลียงกลับไปยังระบบหมุนเวียนเลือด ผ่านทางท่อน้ำเหลืองและหลอดเลือด น้ำเหลืองเป็นของเหลวที่ซึมผ่านผนังเส้นเลือดฝอยออกมาอยู่ในช่องว่าง ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการลำเลียงสารต่าง ๆ เข้าสู่เซลล์
2. ท่อน้ำเหลือง (Lymphatic Vessels) ท่อน้ำเหลืองพบได้ทั่วไปในร่างกาย มีลักษณะปลายตัน มีลิ้นเปิดปิดที่ช่วยป้องกันการไหลย้อนกลับของน้ำเหลืองคล้ายกับหลอดเลือดดำ ซึ่งจะนำน้ำเหลืองไหลผ่านต่อมน้ำเหลืองและ กรองเชื้อโรคต่าง ๆ ก่อนจะระบายน้ำเหลืองก่อนเข้าสู่เส้นเลือดดำที่บริเวณใกล้หัวใจ
3. อวัยวะน้ำเหลือง (Lymphatic/Lymphoid Organs) อวัยวะภายในที่มีหน้าที่สร้างเม็ดเลือดขาวชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะลิมโฟไซต์ และสนับสนุนการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน เพื่อต่อต้านเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย เช่น
- ต่อมไทมัส คือ อวัยวะน้ำเหลืองที่อยู่บริเวณหลังกระดูกหน้าอกเหนือหัวใจ มีหน้าที่สร้างเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ ช่วยจัดการกับเซลล์ที่ติดเชื้อก่อนส่งเข้าสู่กระแสเลือด
- ต่อมน้ำเหลือง คือ เนื้อเยื่อขนาดเล็กที่กระจายอยู่ทั่วร่างกายตามทางผ่านของหลอดน้ำเหลือง ทำหน้าที่กรองน้ำเหลือง กำจัดสิ่งแปลกปลอม และป้องกันการติดเชื้อ หากต่อมน้ำเหลืองเกิดการอักเสบจึงเป็นสัญญาณของการติดเชื้อภายในร่างกาย
- ม้าม คือ อวัยวะที่ใหญ่ที่สุดในระบบน้ำเหลือง อยู่บริเวณใต้กะบังลม ทำหน้าที่สร้างเม็ดเลือดต่าง ๆ และทำลายเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวที่หมดอายุ อีกทั้งยังมีหน้าที่ตรวจจับเชื้อโรคหรือเซลล์ที่ตายแล้วที่อยู่ในเลือด
- ต่อมทอนซิล อยู่บริเวณหลังลำคอ เปรียบเสมือนต่อมน้ำเหลืองต่อมหนึ่ง มีหน้าที่กำจัดและตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอมที่ผ่านเข้าทางบริเวณช่องปากและช่องจมูก
โดยจุดเริ่มต้นของการไหลเวียนน้ำเหลือง คือ ท่อขนาดเล็กหรือหลอดน้ำเหลืองฝอยต่าง ๆ ที่มารวมตัวกันเป็นหลอดน้ำเหลืองขนาดใหญ่ ก่อนไหลเข้าสู่ท่อน้ำเหลืองหลักของร่างกาย และระบบน้ำเหลืองไม่มีการสูบฉีดเช่นเดียวกับระบบไหลเวียนโลหิต
ถ้าระบบน้ำเหลืองเสียจะส่งผลต่อร่างกายอย่างไร
เมื่อมีเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกายก็จะถูกกักและทำลายในบริเวณต่อมน้ำเหลือง โดยเซลล์เม็ดเลือดขาวที่อยู่ในบริเวณนั้น แต่หากปริมาณเชื้อโรคมีมากเกินกว่าที่จะจัดการได้ ต่อมน้ำเหลืองก็จะเกิดการอักเสบ ทำให้เกิดอาการปวดบวม แดง และเมื่อคลำดูก็อาจจะพบก้อนหรือตุ่มขึ้นมา หรือบางครั้งก็อาจทำให้มีไข้ร่วมด้วย
ระบบน้ำเหลืองเสีย หมายถึง การที่น้ำเหลืองไหลเวียนไม่สะดวก จนก่อให้เกิดการคั่งค้างของของเสีย การเกิดการสะสมของสารพิษหรือเชื้อโรคในร่างกายมากขึ้น และเกิดจากสาเหตุประการอื่น ๆ เช่น สารเคมี สารอนุมูลอิสระ สารก่อภูมิแพ้ รวมถึงสารก่อมะเร็ง ทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอลง จนทำให้เกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ตามมาได้
ระบบน้ำเหลืองเสียจึงเกี่ยวเนื่องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย จะเห็นได้ว่าระบบน้ำเหลืองต้องทำงานคู่กับระบบภูมิคุ้มกันที่คอยกำจัดเชื้อโรคร้าย เมื่อระบบน้ำเหลืองบกพร่องไป ทำให้ไม่สามารถกำจัดเชื้อโรคได้ ภูมิคุ้มกันจึงอ่อนแอลง จึงมีอาการแพ้สิ่งต่าง ๆ ได้ง่าย รวมไปถึงเชื้อโรคก็ไม่ถูกกำจัดออกไปอีกด้วย
อาการของระบบน้ำเหลืองเสียอาจแสดงออกมาได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่มีอาการเล็กน้อยไปจนถึงอาการรุนแรง เช่น เป็นตุ่ม ผื่นคัน ภูมิแพ้ รอยดำ โรคที่มาจากไวรัสและแบคทีเรียต่าง ๆ อย่างเริม งูสวัด สะเก็ดเงิน โรคภูมิคุ้มกันอ่อนแอทำให้ร่างกายแพ้ภูมิตนเอง รวมถึงเกิดความผิดปกติอื่น ๆ ของร่างกาย เพราะฉะนั้นควรเริ่มดูแลระบบน้ำเหลืองกันเสียตั้งแต่วันนี้ และเพื่อป้องกันอันตรายจากโรคเกี่ยวกับระบบน้ำเหลืองที่พบได้บ่อย เช่น
ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ เป็นภาวะบวม แดง บางครั้งก็มีหนองหรือมีอาการอื่น ๆ มักพบที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอ ใต้คาง ใต้รักแร้ และขาหนีบ ซึ่งบ่งบอกถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นในร่างกายได้ เช่น การติดเชื้อหวัด วัณโรค โรคเอดส์ หรือความเสี่ยงเป็นโรคบางชนิด เช่น โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคแพ้ภูมิตัวเอง
วัณโรคต่อมน้ำเหลือง เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในร่างกายเป็นเวลานาน และแพร่กระจายผ่านทางการไอ จาม หรือหายใจได้ ซึ่งยังลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ได้อีก ผู้ป่วยวัณโรคต่อมน้ำเหลือง จะมีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต กลายเป็นฝีและแตกออกมีหนอง แต่ยังสามารถรักษาได้ด้วยยา
มะเร็งต่อมน้ำเหลือง แบ่งได้ 2 กลุ่มหลัก ๆ คือ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน และมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอดจ์กิน ส่วนใหญ่คนไทยจะเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอดจ์กิน ซึ่งเกิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาวแบ่งตัวจนไม่สามารถควบคุมได้และกลายเป็นเซลล์มะเร็ง มักพบในวัยผู้ใหญ่หรือผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี
ผิวหนังผิดปกติ มีการคั่งค้างสะสมของน้ำเหลืองชั้นใต้ผิวหนัง อาจเกิดจากทางเดินน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงกันถูกทำลาย และทำให้เกิดการสะสมของพังผืดใต้ผิวหนัง ผิวมีสีคล้ำและหนาขึ้น หากปล่อยทิ้งไว้จะเกิดการอักเสบ ติดเชื้อและเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้
เมื่อพบอาการผิดปกติของต่อมน้ำเหลือง เช่น ต่อมน้ำเหลืองบวมโตอย่างต่อเนื่อง คลำเป็นก้อนได้หลาย ๆ ต่อม ร่วมกับอาการผิดปกติอื่น ๆ ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเสมอ เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและเข้ารับการรักษาได้อย่างถูกต้อง
วิธีกระตุ้นและปรับสมดุลระบบน้ำเหลืองในร่างกาย
สำหรับการรักษาระบบน้ำเหลืองในร่างกายจำเป็นต้องพิจารณาจากสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการน้ำเหลืองเสีย และลักษณะของอาการร่วมด้วย หากมีอาการที่แสดงออกทางผิวหนังเพียงอย่างเดียว เช่น ผื่นแดง ผื่นคันที่ไม่รุนแรงก็สามารถรับประทานยาหรือทายาที่กำจัดเชื้อประเภทนั้นได้ แต่ถ้าไม่ได้พบแพทย์เพื่อพิจารณาสาเหตุที่แท้จริง ซื้อยามารับประทาน จะทำให้การรักษาไม่มีประสิทธิภาพ และยังอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
ทั้งนี้ สำหรับคนที่ระบบน้ำเหลืองไม่ดีและมีอาการไม่รุนแรง สามารถเสริมสร้าง กระตุ้น และปรับสมดุลระบบน้ำเหลืองในร่างกายให้ดีขึ้นได้ ซึ่งจะส่งผลให้สุขภาพของเราแข็งแรง และช่วยป้องกันความเจ็บป่วยต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ ด้วยวิธีเหล่านี้
- ฝึกหายใจลึก โดยสูดลมหายใจเข้าช้า ๆ ลึก ๆ เอาอากาศออกมาให้หมดผ่านทางจมูก ให้หน้าท้องขยายออก และหดกลับเข้าไป
- เน้นการออกกำลังกายที่ได้เสริมสร้างระบบน้ำเหลือง อย่างการแกว่งแขนกระตุ้นต่อมน้ำเหลือง
- พักผ่อนให้เพียงพอ ช่วยทำให้กระบวนการต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- อาบน้ำร้อนสลับเย็น จะช่วยให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย และกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด
- นวดกระตุ้นระบบน้ำเหลือง เพื่อขับสารพิษและของเสีย ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังช่วยปรับสมดุลให้กับร่างกายด้วย
- เน้นทานผัก ผลไม้ ถั่ว และเมล็ดธัญพืชที่มีประโยชน์ จะช่วยกระตุ้นการทำงานของเซลล์ในระบบน้ำเหลือง
- ทานอาหารที่มีความสดและสะอาด และหลีกเลี่ยงอาหารประเภทรสจัด ของหวาน ของมัน ของทอด เป็นต้น
- ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ เนื่องจากระบบการไหลเวียนของน้ำเหลืองนั้นจำเป็นต้องอาศัยน้ำเป็นตัวขับเคลื่อน
- ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกิดโรคอ้วน เพราะอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ระบบการไหลเวียนของเลือดและระบบน้ำเหลืองในร่างกายผิดปกติ
สำหรับคนที่มีอาการน้ำเหลืองเสียก็สามารถกระตุ้นและปรับสมดุลระบบน้ำเหลืองในร่างกายได้ด้วยวิธีธรรมชาติ และทำตามได้อย่างไม่ยากเย็น อย่างการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันในร่างกาย รวมถึง การออกกำลังกายให้เลือดลมไหลเวียนดี ซึ่งก็จะทำให้มีสุขภาพแข็งแรงและระบบภายในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ระบบน้ำเหลืองเสียนั้นสามารถรักษาได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคนว่ารุนแรงมากเพียงใด และจะต้องจัดการที่ต้นเหตุของปัญหาจึงจะได้ผลดี อีกทั้งการดูแลระบบน้ำเหลืองทั้งระบบจากภายใน ด้วยวิธีการกระตุ้นและปรับสมดุลในร่างกาย ก็จะช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายแข็งแรงสามารถจัดการกับเชื้อโรคได้ดีขึ้น และช่วยป้องกันความเสี่ยงจากโรคต่าง ๆ ได้
อ้างอิง
- ระบบ น้ำเหลือง. https://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/88692/-scibio-sci-
- “ระบบน้ำเหลือง” คืออะไร? สำคัญต่อร่างกายอย่างไร? https://www.sanook.com/health/24317/
- ระบบน้ำเหลืองในร่างกายมนุษย์. https://ngthai.com/science/42114/lymphatic-system/